banner image

รู้จักอะโวคาโด



อะโวคาโด ผลไม้มหัศจรรย์

อะโวคาโด หรือ อาโวคาโด เขียนภาษาอังกฤษ คือ Avocado คนไทยเรียกว่า  ลูกเนย  เนื่องจาก อะโวคาโด เป็นผลไม้ที่มีเนื้อมันเป็นเนย
อะโวคาโด เป็นต้นไม้ที่มีพื้นเพมาจากประเทศเม็กซิโก โดยจัดเป็นประเภท พืชดอก ในวงศ์ Lauraceae ซึ่งเป็นวงศ์ตระกูลเดียวกับ สมุนไพร เช่น อบเชย ลูกกระวาน และ เบย์ลอเรล (Bay Laurel)
ผลของอะโวคาโด มีรูปทรงคล้ายลูกสาลี่ รูปไข่ หรือ รูปกลม บางครั้งมีรูปทรงคล้ายลูกแพร์ เปลือกค่อนข้างหนา ผิวขรุขระ มีสีเขียวเข้ม บางพันธุ์จะมีสีออกน้ำตาลเข้ม  เนื้อในของ อะโวคาโด มีสีเหลืองอ่อน มีเมล็ดแข็งขนาดใหญ่ 1 เมล็ด
อะโวคาโด ถูกมิชชันนารี ชาวอเมริกันนำมาปลูก ในประเทศไทย ครั้งแรก ที่จังหวัดน่าน หลังจากนั้น ก็ปลูกเป็นที่แพร่หลาย ในหลายจังหวัด ทั้งหน่วยงานราชการ และ เอกชน รวมถึงเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่เห็นโอกาสของการเติบโตของ อะโวคาโด
อาโวคาโดเป็นไม้ ยืนต้น ต้นเติบโตเต็มที่ สูงถึง 18 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลอ่อน ผิวขรุขระ ใบสีเขียวสด ดอกขนาดเล็ก สีเขียวอมเหลือง ดอกออกเป็นช่อ ที่ปลายกิ่ง ผลกลมรี หรือ ทรงลูกแพร์ มีทั้งพันธุ์เปลือกหนา และ เปลือกบาง เนื้อมีตั้งแต่ เหลืองอ่อน จนถึงเหลืองเข้ม รสมัน เนื้อละเอียด ไม่มีกลิ่น มีเมล็ดเดียว มีรกหุ้มเมล็ด อาโวคาโดแบ่งเป็น 3 เผ่าคือ
  • เผ่ากัวเตมาลา ผลสีเขียว ขั้วผลขรุขระ เมล็ดเรียบเล็กค่อนข้างกลม เนื้อหนา ไขมันสูง ชอบอากาศหนาวเย็นปานกลาง
  • เผ่าอินดีสตะวันตก ผิวผลเรียบเป็นมัน สีเขียวอมเหลือง เปลือกหนา เมล็ดอยู่ในโพรงเมล็ดอย่างหลวม ๆ รสหวานอ่อน ไขมันน้อย ชอบอากาศร้อน
  • เผ่าเม็กซิโก ผลเล็กเรียบ เมื่อแก่สีม่วง เปลือกบางกว่าอีก 2 เผ่า เปลือกหุ้มเมล็ดบาง เมล็ดใหญ่อยู่ในโพรงเมล็ดอย่างหลวม ๆ มีไขมันมากที่สุด ทนอากาศเย็นได้ดีที่สุด
อาโวคาโดเป็นผลไม้ที่มีการค้าขาย และ เพาะปลูกในภูมิอากาศเขตร้อนทั่วโลก (และบางส่วนในเขตอบอุ่น เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย) มีผลสีเขียวทางลูกสาลี่ที่จะสุกหลังการเก็บเกี่ยว ต้นไม้สามารถถ่ายเรณูในต้นเดียวกันได้ และบางครั้งการขยายพันธุ์ จะใช้การติดตาตอนกิ่ง เพื่อที่จะสามารถควบคุมคุณภาพ และปริมาณของผลได้
ด้วยประเทศไทย เป็นประเทศที่มีผลไม้หลากหลาย ให้ทานได้ตลอดทั้งปี ทั้งหน้าร้อน หน้าฝน หน้าหนาว อีกทั้งยังมีรสชาติอร่อย ถูกปาก มีทั้ง เปรี้ยว หวาน ถูกใจคนไทย ทำให้อะโวคาโด ยังไม่เป็นที่นิยมมากนักในหมู่คนไทย อาจะเป็นเพราะว่าอะโวคาโด มีเนื้อค่อนข้างมัน รสชาติเหมือนทานเนย จึงไม่ค่อยถูกปากกับคนไทยมากนัก
แต่เชื่อมั้ยว่า สำหรับชาวต่างชาติ เช่น ชาวยุโรป ชาวอเมริกัน กลับนิยมชมชอบอะโวคาโดเป็นอย่างมาก โดยนิยมทานสด เป็นผลไม้ หรือ นำมาใช้ประกอบอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารพวกสลัด หลากประเภท

ทำไมอะโวคาโด ถึงเป็นผลไม้มหัศจรรย์

เพราะกรดโอเลอิกที่อยู่ในลูกอะโวคาโด หรือ ไขมันอิ่มตัวเชิงเดี่ยว สามารถลดระดับไขมันชนิดไม่ดี และทำให้ร่างกายได้รับไขมันชนิดดี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย จึงเป็นเกราะป้องกัน ช่วยให้ลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจได้
ประโยชน์ของอะโวคาโด ซึ่งถ้ารับประทานสลัดที่ใส่อะโวคาโดด้วย ไขมันในอะโวคาโด จะช่วยดูดซึมแคโรทีนอยด์จ ากผักอื่น ๆ สารลูทีนในอะโวคาโดมีประโยชน์ในการช่วยบำรุงสุขภาพประสาทตาสำหรับผู้ใหญ่ การกินอะโวคาโด ร่างกายจะได้รับกรดโฟลิก ประมาณ 57 ไมโครกรัม โดยกรดโฟริกนี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญ ต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง และ ยังช่วยเสริมสร้างเนื้อเยื่อทารกในครรภ์ด้วย จึงมีประโยชน์มาก สำหรับสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ ช่วยลดระดับสารโฮโมซิสเทอีน ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดโรคหัวใจ และยังได้รับใยอาหาร ช่วยลดความเสี่ยงอาการท้องผูก แถมยังทำให้สุขภาพลำไส้ และระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประโยชน์ของอะโวคาโดยังมีอีกมากมายอาทิ เช่น ลดความเสี่ยงของภาวะหลอดเลือดแข็ง ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ วิตามินอีสูง เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดี และ เป็นผลดีต่อสุขภาพผิว สามารถต้านสารมะเร็ง เพราะในอะโวคาโดมีสารกลูตาไทโอน มีน้ำตาลน้อย ผู้ป่วยเบาหวานสามารถรับประทานได้ แต่เพราะอะโวคาโดให้พลังงานสูง จึงควรจำกัดการรับประทาน
อะโวคาโดจะสุกก็ต่อเมื่อเก็บเกี่ยวลงมาจากต้นแล้ว โดยผลดิบจะมีรสขม เพราะมีสารแทนนินสูง จึงต้องวางทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง จนกว่าจะสุก แล้วค่อยนำไปกิน หรือ เก็บเข้าตู้เย็น และไม่ควรนำอะโวคาโดไปปรุงด้วยความร้อนสูง เพราะจะทำให้เกิดรสขมจากสารแทนนินได้ ส่วนเคล็ดลับที่จะทำให้เนื้ออะโวคาโดไม่ดำหลังจากผ่าแล้ว ก็เพียงนำไปคลุกกับน้ำมะนาวเท่านั้น

การนำอะโวคาโดไปใช้ประโยชน์

อาโวคาโดกินดิบไม่ได้เพราะมีแทนนินทำให้ขม กินมากจะปวดศีรษะ  รับประทานได้แต่ผลสุก กินเป็นผลไม้สด หรือกินกับไอศกรีมน้ำตาล นมข้นหวาน สลัด เค้ก ชาวเม็กซิโกใช้เนื้ออาโวคาโดปรุงอาหารแทนเนย และนำมาสกัดน้ำมันทำเครื่องสำอาง
ในฟิลิปปินส์ บราซิล อินโดนีเซีย เวียดนาม และอินเดียใต้นิยมกินอาโวคาโดกับนมปั่นหรือไอศกรีม ในบราซิล เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียจะเติมน้ำตาล นมหรือน้ำ และเนื้ออาโวคาโด บางครั้งราดด้วยช็อกโกแลต

ความเป็นพิษจากอะโวคาโด

บางคนแพ้อาโวคาโด โดยแพ้ในรูปของละอองเกสร หรือหลังจากรับประทานอาโวคาโดเข้าไปที่เรียก latex-fruit syndrome เพราะเกี่ยวข้องกับการแพ้ลาเท็กซ์ อาการที่ปรากฏได้แก่ ลมพิษ ผื่นคัน ปวดท้อง อาเจียน หรืออาจจะเสียชีวิตได้
ใบ เปลือกต้น และเปลือกชั้นเอนโดคาร์บของอาโวคาโดเป็นพิษต่อสัตว์หลายชนิดทั้งแมว หมา แพะ กระต่าย หนู นก ปลา ไก่ และม้า ผลเป็นพิษกับนกบางชนิด American Society for the Prevention of Cruelty to Animals (ASPCA) ได้ประกาศว่าอาโวคาโดเป็นพิษต่อสัตว์ อาโวคาโดเป็นส่วนผสมในอาหารสุนัข และอาหารแมว ชนิด AvoDerm ซึ่ง ASPCA ปฏิเสธที่จะรับรองว่าปลอดภัยหรือไม่











มาทำความรู้จัก สายพันธ์ุของอะโวคาโด

1. อะโวคาโด พันธ์ุ ลูล่า (Avocado Lula) เกิดจากเมล็ดเผ่ากัวเตมาลัน มีรูปร่างคล้าย ๆ หลอดไฟ ขนาดของผลไม่ใหญ่มาก ประมาณ 300 – 500 กรัม มีผิวเรียบ เนื้อสีจะออกเหลืองปนเขียว มีเมล็ดขนาดใหญ่ติดอยู่ในช่อง เมล็ดแน่น มีไขมัน 6-15 % อะโวคาโดพันธ์ุลูล่า มีช่วงเก็บผลผลิตประมาณเดือนตุลาคม ถึง เดือนมกราคม ซึ่งจะเป็นช่วงที่จะเป็นอากาศเย็นหรือหนาว
2. อะโวคาโดพันธุ์บูทช์ 7 (Avocado Booth 7) เป็นลูกผสมระหว่างเตมาลันและเวสอินเดียน ผลค่อนข้างกลม มีขนาดประมาณ 300 – 500 กรัมต่อลูก มีผิวขรุขระ ผิวสีเขียว เปลือกหนา เนื้อสีเหลืองอ่อน มีรสชาติดี มีเมล็ดขนาดกลางติดอยู่ในช่องเมล็ดแน่น ไขมันประมาณ 7-14 % ออกผลผลิตประมาณเดือนตุลาคม ถึง เดือนธันวาคม ในประเทศไทย เป็นที่นิยมปลูกกันมาก
3. อะโวคาโดพันธุ์บูทช์ 8 (Avocado Booth 8) พันธุ์นี้มีถิ่นกำเนิกครั้งแรกในฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับ พันธุ์บูทช์ 7 ลักษณะผลเป็นรูปไข่ มีขนาดเล็กถึงกลาง มีน้ำหนักประมาณ 250 – 400 กรัม มีผิวขรุขระสีเขียว เปลือกหนา เนื้อสีครีมอ่อน รสชาติพอใช้ได้ มีไขมันประมาณ 6 – 12 % เมล็ดขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ อยู่ในช่องเมล็ดแน่น ออกผลผลิตประมาณต้นเดือนตุลาคม ถึง กลางเดือนธันวาคม
4. อะโวคาโดพันธุ์วอลดิน (Avocado Waldin) เป็นลูกผสมเผ่าเวสอินเดียนกับกัวเตมาลัน ลักษณะผลเป็นรูปไข่ มีผิวเรียบเป็นมัน สีเขียวอ่อน หรือ สีเขียวอมเหลือง น้ำหนักประมาณ 300 – 500 กรัม เนื้อสีเหลืองอมเขียว เมล็ดขนาดกลางหรือใหญ่อยู่ในช่องเมล็ดแน่น มีไขมัน 5 – 10 % ผลผลิตจะออกมาประมาณ เดือนกันยายน ถึง ต้นเดือนพฤศจิกายน
5. อะโวคาโดพันธุ์โพลล็อค (Avocado Pollock) เป็นสายพันธุ์จากเผ่าเวสอินเดียน ต้นแข็งแรง มีผลขนาดใหญ่ มีลักษณะผลเป็นรูปรี มีผิวสีเขียวอ่อน และมีจุดประสีเขียวอมเหลืองกระจายเต็มผล เมื่อผลแก่ จะมีสีเหลืองอมเขียวบริเวณใกล้ขั้ว ผลและที่ขั้วผลจะมีสีเหลืองละเอียด ผลค่อนข้างใหญ่ มีน้ำหนักประมาณ 600 – 700 กรัม เมื่อบ่มให้สุก เปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีม่วง หรือ สีเขียวอมเหลือง มีเปลือกบาง เมล็ดจะอยู่ในช่องอย่างหลวม ๆ มีฤดูผลผลิตประมาณ กรกฏาคม ถึง สิงหาคม
6. อะโวคาโดพันธุ์ฮิกสัน (Avocado Hickson) มีผลรูปไข่ น้ำหนักประมาณ 400 – 600 กรัม ลักษณะผิวขรุขระเล็กน้อย เปลือกหนาเปราะ มีเนื้อสีเหลืองอ่อน เมล็ดเล็กติดอยู่ในช่องเมล็ดแน่น ไขมันประมาณ 8 – 10 % มีลำต้นสูง ขั้วผลเหนียวทนทานต่อลม แต่ไม่ทนทานต่ออากาศเย็น ผลผลิตออกประมาณ พฤศจิกายน ถึง เดือน ธันวาคม

7. อะโวคาโดพันธุ์เทเลอร์ (Avocado Taylor) เป็นสายพันธ์ุจาก เผ่ากัวเตมาลัน ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ หรือ รี ขนาดเล็ก ถึง กลาง มีน้ำหนักประมาณ 300 – 400 กรัม ผิวขรุขระมาก มีผลเขียวเข้ม เนื้อสีเหลืองอ่อน เนื้อฉ่ำ รสดีมาก เมล็ดขนาดกลาง ไขมัน 12 – 17 % ทนทานต่ออากาศเย็นมาก การเก็บรักษาผลดิบ ควรเก็ยไว้ในห้องเย็น เพื่อรักษาคุณภาพ มีฤดูเก็บเกี่ยวประมาณ กลางเดือนพฤศจิกายน

8. อะโวคาโดพันธุ์มอนโร (Avocado Monroe) เป็นลูกผสมระหว่างกัวเตมาบัน และ เวสอินเดียน มีผลรูปไข่ ด้านล่างของผลด้านหนึ่ง เป็นผลขนาดใหญ่ น้ำหนัก 200 – 400 กรัม มีผิวขรุขระ สีเขียวเข้ม เปลือกหนา มีเนื้อหนาปานกลาง เนื้อเหลืองอ่อน มีคุณภาพดี

9. อะโวคาโดพันธุ์ฮอลล์ (Avocado Hall) เป็นลูกผสมระหว่างกัวเตมาลัน และ เวสอินเดียน ลักษณะผลคล้ายกับหลอดไฟ น้ำหนักประมาณ 400 – 500 กรัม (บางครั้งใหญ่จนถึง 600 กรัม) ผิวค่อนข้างเรียบ มีสีเขียวเข้ม เปลือกหนาพอใช้ เนื้อสีเหลืองเข้ม เมล็ดขนาดกลางถึงใหญ่ อยู่ในช่องเมล็ดแน่น ไขมัน 10 – 16 % มีช่วงผลผลิตประมาณ เดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนมกราคม

10. อะโวคาโดพันธุ์โชเควท (Avocado Choquette) มีผลรูปไข่ด้านผลด้านหนึ่งแป้น มีผลค่อนข้างใหญ่ ประมาณ 400 – 600 กรัม ผิวเกือบเรียบเป็นมัน ผลสีเขียวถึงเขียวเข้ม เนื้อหนาสีเหลือง รสดี เมล็ดขนาดกลาง อยู่ในช่องเมล็ดแน่น ไขมัน 3 – 18 % มีฤดูออกผลผลิต ประมาณ เดือน พฤศจิกายน ถึง เดือน มกราคม

11. อะโวคาโดพันธุ์แฮส (Avocado Hass) มีต้นกำเนิดจากเผ่ากัวเตมาลัน ลักษณะผลเป็นรูปไข่ ผิวขรุขระมาก มีผิวสีเขียวเข้ม เมื่อสุกอาจเป็นสีเขียวหรือม่วงเข้ม มีผลขนาดเล็ก ประมาณ 200 – 300 กรัม เนื้อสีเหลือง เมล็ดเล็กถึงกลาง ไขมัน 20 % ค่อนข้างสูง มีฤดูผลผลิตประมาณ เดือน ธันวาคม ถึง เดือน กุมภาพันธ์

12. อะโวคาโดพันธุ์เฟอร์เออเต้  (Avocado Fuerte) เชื่อว่าเป็นลูกผสมระหว่างกัวเตมาลัน และ เม็กซิกัน มีผลขนาดเล็ก ถึง กลาง ประมาณ 200 – 350 กรัม ต่อลูก มีลักษณะผลเป็นรูปไข่ สีเขียว ผิวขรุขระเล็กน้อย มีเนื้อสีเหลืองครีม เมล็ดขนาดกลาง ฤดูเก็บเกี่ยวประมาณ เดือน กรกฏาคม ถึง เดือน มกราคม

13. อะโวคาโดพันธุ์มองค์ (Avocado Monge) เป็นสายพันธ์ุจากฮาวาย ผลสีเขียวอ่อน ผิวผลเรียบ สีเขียว มีจุดประสีน้ำตาลกระจายทั่วผล เมล็ดอยู่ใสช่องเมล็ดหลวม ๆ มีน้ำหนักประมาณ 280 – 320 กรัม เปลืองบาง เมล็ดเล็ก เนื้อสีเหลืองอมเขียว ผลผลิตออกประมาณ เดือน สิงหาคม ถึง เดือน ตุลาคม

14. อะโวคาโดพันธุ์กัมปง (Avocado Kampong) เป็นลูกผสมกัวเตมาลัน ผลรูปไข่ ฐานกว้าง ผิวเรียบ สีเขียว เป็นมัน เนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อหนา 2.3 – 2.5 เซ็นติเมตร เปลือกค่อนข้างหนา มีน้ำหนักประมาณ 400 – 600 กรัม เมล็ดขนาดกลางอยู่ในช่องเมล็ดแน่น มีฤดูเก็บเกี่ยวประมาณเดือน กันยายน ถึง เดือน ธันวาคม

15. อะโวคาโดพันธุ์ปากช่อง 2-8 (Avocado Pakchong 2-8) เกิดจากเมล็ดกัวเตมาลัน มีผลสีเขียว มีจุดกระสีน้ำตาล บริเวณใกล้ขั้วผล สีเขียวอมเหลืองอ่อน ๆ เปลือกหนา เนื้อหนาสีเหลืองอมเขียว เมล็ดอยู่ในช่องเมล็ดแน่น น้ำหนัก 450 – 700 กรัม ซึ่งขนาดค่อนข้างใหญ่ มีฤดูเก็บเกี่ยวเดือน พฤศจิกายน ถึง เดือน มกราคม

ที่มาของข้อมูล
– wikipedia
– ผศ.ฉลองชัย แบบประเสริฐ และ มูลนิธิโครงการหลวง
รู้จักอะโวคาโด รู้จักอะโวคาโด Reviewed by TTBB on มิถุนายน 27, 2593 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.